อุณหภูมิมีผลต่อการบินมากกว่าที่คิด

16-10-2019 อ่าน 8,108

ภาพที่ 1 การไหลของอากาศเมื่อผ่านปีกนก (ภาพจาก Harold Rowett)

 
          สัตว์หลายชนิดที่บินได้เช่น นก แมลง ผีเสื้อ ผึ้ง ฯลฯ ส่วนมากมีการวิวัฒนาการและปรับโครงสร้างร่างกายให้เหมาะสมกับการบินและสภาพแวดล้อมที่อาศัย ยกตัวอย่างเช่น ขนาดของปีก รูปร่างของปีก น้ำหนักตัว โครงสร้างของกระดูก เป็นต้น โดยแต่ละรูปแบบก็มีประสิทธิภาพในการบินและรูปแบบการบินที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งหลักการที่เกี่ยวข้องกับการบินนั้นก็คือแรกยกของอากาศที่เกิดจากความดันอากาศ หลักการนี้ยังสามารถอธิบายแรงยกของเครื่องบินได้อีกด้วย


          การบินของนก : นกนั้นมีการปรับตัวเพื่อทางโครงสร้างสำหรับการบินหลายอย่าง เช่น น้ำหนักของร่างกาย โดยนกจะมีการลดขนาดของลำตัวและอวัยวะเพื่อให้มีน้ำหนักที่เบา เนื่องจากโลกมีสนามความโน้มถ่วง (วัตถุที่เคลื่อนที่ภายใต้สนามโน้มถ่วง จะเคลื่อนที่ลงด้วยความเร่งเนื่องจากแรงโน้มถ่วง 9.8 m/s2)  ดังนั้นนกจึงต้องปรับโครงสร้างให้มีน้ำหนักเบา ทำให้ใช้แรงน้อยสำหรับการบิน  อีกทั้งกระดูกมีน้ำหนักเบา เพราะด้านในเป็นโพรงแต่ยังคงความแข็งแรง ขนของนกมีน้ำหนักเบาและบางมีการเรียงตัวเป็นแผงช่วยในการอุ้มอากาศ ซึ่งปีกของนกนั้นด้านบนจะมีความยาวที่มากกว่าด้านล่าง ขณะที่นกกำลังบินในอากาศ อากาศจะไหลผ่านปีกนก แรงดันด้านบนจะน้อยกว่าด้านล่าง ดังนั้นแรงดันด้านล่างจะทำให้เกิดแรงยกตัวขึ้น (lift) ขณะเดียวกันก็มีแรงผลักถอยหลังเกิดขึ้นด้วย (drag) ยิ่งอากาศไหลผ่านปีกเร็วเท่าไหร่ จะมีแรกยกมากขึ้นเท่านั้น เป็นไปตาม Bernoulli effect และกฎข้อที่ 3 ของนิวตัน ขนาดของปีกก็มีผลต่อแรงยกเช่นกัน ถ้ามีขนาดของปีกที่ใหญ่ ก็เหมือนกับมีพื้นผิวที่เพิ่มขึ้นส่งผลทำให้แรงยกเพิ่มขึ้นนั่นเอง นอกจากนี้มุมปะทะระหว่างอากาศกับปีกของนก (angle of attack) ก็มีผลด้วยเช่นกัน คือแรงยกจะเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนโดยตรงกับองศาของมุม แต่มุมของปีกจะต้องน้อยกว่า 6 องศาเท่านั้น (สำหรับนก) เพราะถ้ามุมมากกว่า 6 องศา จะทำให้เกิดแรงต้านและอากาศหลังปีกจะหมุนวนแบบปั่นป่วนความเร็วของนกจะลดลง หรือเป็นช่วงที่นกกำลังจะเกาะที่กิ่งไม้นั่นเอง นอกจากนี้ angle of attack ยังใช้กับปีกของเครื่องบินอีกด้วย วิศวกรจึงออกแบบให้ปีกของเครื่องบินมีการทำมุมกับแนวปะทะของอากาศ เพื่อเพิ่มแรงยกนั่นเอง (angle of attack สำหรับเครื่องบินต้องน้อยกว่า 18 องศา) 

 

ภาพที่ 1 การไหลของอากาศเมื่อผ่านปีกนก (ภาพจาก Harold Rowett)

 
           การบินของผึ้ง : โครงสร้างลำตัวผึ้งจะมีนำหนักเบาและมีขนาดเล็ก ผึ้งจะมีการขยับปีกด้วยความถี่สูง (230 ครั้ง/วินาที) กล้ามเนื้อที่ควบคุมการขยับปีกไม่ได้ติดต่อกับปีกโดยตรงแต่จะยึดกับผนังส่วนอก การบินของผึ้งจะแตกต่างกับของสัตว์ปีกพวกนกคือ การกระพือปีกของผึ้งมีทิศทางในแนวขนานกับลำตัวหรือหน้า-หลัง ในขณะที่นกจะการกระพือปีกในแนวตั้งฉากกับลำตัวหรือบน-ล่าง ผึ้งยังมีการควบคุมปีกให้เอียงทำมุมเล็กน้อยคล้ายกับการหมุดของใบพัดหรือหมุนคล้ายเลขแปด ส่งผลทำให้เกิดการหมุนวนของอากาศขนาดเล็กบริเวณเหนือปีก ซึ่งจะมีความดันอากาศต่ำกว่า บริเวณรอบ ๆ ทำให้เกิดแรงยกตัวขึ้นจากบริเวณใต้ปีกของผึ้ง การเกิดอากาศหมุนวนขนาดเล็กบริเวณเหนือปีกด้วยการกระพือปีกของผึ้งนี้เองที่ทำ ให้ผึ้งสามารถบินในอากาศได้


 

ภาพที่ 2 การไหลของอากาศเมื่อผ่านตัวผึ้ง (ภาพจาก R.J. Bomphrey)

 
          การบินของเครื่องบิน : เครื่องบินถูกออกแบบรูปร่างให้มีลักษณะที่คล้ายกับนก ดังนั้นลักษณะการไหลของอากาศจะเหมือนกับนก โดยอาศัยแรงยกใต้ปีกยกขึ้น เพราะอากาศด้านบนปีกเคลื่อนที่ได้เร็วกว่าด้านล่าง แต่จะแตกต่างกันตรงที่นกสามารถปรับองศาของปีกได้ ในขณะที่เครื่องบินปีกจะทำมุมคงที่ ตรงนี้ทำให้กระแสของอากาศที่ไหลผ่านปีกของเครื่องบินคงที่และเป็นไปตามกฎอากาศพลศาสตร์ (aerodynamics) ใขขณะที่เฮลิคอปเตอร์จะใช้วิธีการเดียวกันกับแมลงในการสร้างแรงยกตัวและเคลื่อนที่ โดยอาศัยการหมุนของใบพัดทำให้เกิดแรงยกขึ้น ซึ่งวิธีนี้เองทำให้แมลง ผึ้ง และเฮลิคอปเตอร์ สามารถเคลื่อนที่ขึ้นในแนวดิ่งและยังสามารถลอยตัวนิ่งๆในอากาศได้ ซึ่งวิธีแบบนี้นกและเครื่องบินไม่สามารถทำได้ เพราะต้องเคลื่อนที่ไปข้างหน้าตลอดเวลา


 
ภาพที่ 3 การเปรียบเทียบการไหลของอากาศระหว่างนกและเครื่องบิน (ภาพจาก Harold Rowett)

 
          อุณหภูมิมีผลต่อการบินอย่างไร : จากที่กล่าวมาข้างต้น การบินจะอาศัยแรงยกของอากาศในการดันปีกเครื่องบิน แต่ทว่าถ้ามีอุณหภูมิที่สูงขึ้นกลับไม่เป็นเช่นนั้น แรงยกที่ใต้ปีกเครื่องบินกลับน้อยลงกว่าเดิมจึงอาจทำให้ไม่สามารถเอาเครื่องขึ้นได้ ปรากฎการณ์นี้สามารถอธิบายด้วยกฎของชาร์ล (Charle's Law) “ถ้ามวลและความดันของแก๊สคงที่ ปริมาตรของแก๊สหรืออากาศจะแปรผันโดยตรงกับอุณหภูมิ” นั่นก็คือ ถ้าอากาศร้อนขึ้น ส่งผลทำให้ความหนาแน่นของอากาศลดลงหรืออากาศเบาบางลงนั่นเอง (โมเลกุลของอากาศน้อยลง เพราะอากาศเกิดการขยายตัวเนื่องจากความร้อน) จึงส่งผลให้โมเลกุลของกาศที่จะไปชนกับปีกเครื่องบินทำให้เกิดแรงยกใต้ปีกได้น้อยลง ในขณะที่เครื่องยนต์จะสร้างแรงขับได้น้อยเนื่องจากอากาศเบาบาง หรือเครื่องยนต์ทำงานได้ไม่เต็มที่ ซึ่งเป็นไปตามกฎการเคลื่อนที่ข้อที่ 3 ของนิวตัน เพราะโมเลกุลของอากาศน้อยเกินไป ส่งผลให้เกิดความเร่งน้อยและความเร็วในการขึ้นช้า เพราะต้องทำความเร็วจนกว่าจะมีกระแสของอากาศไหลผ่านปีกแล้วทำให้มีแรงยกที่ปลอดภัยสำหรับการบิน ดังนั้นสนามบินที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลมาก ๆ หรือสนามบินที่มีสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิค่อนข้างสูงเช่นแถบตะวันออกกลางจะต้องมี Runway ให้เครื่องบินได้วิ่งยาวกว่าเพื่อทำให้เกิดแรงยกใต้ปีกให้มากขึ้น เครื่องบินต้องวิ่งให้เร็วและไกลขึ้นกว่าจะยกตัวขึ้นบินได้ หรือในทวีปอเมริกาใต้ต้องกำหนดเที่ยวบินระยะไกลให้ขึ้นบินในช่วงเย็นหรือกลางคืน ซึ่งมีสภาพอากาศเย็นกว่ากลางวัน ทั้งนี้สายการบินจะไม่ให้เครื่องบินบินขึ้นหากอุณหภูมิสูงกว่า 50 องศาเซลเซียส แม้แต่สัตว์เองก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน นกจะไม่บินถ้ามีอุณหภูมิสูงเพราะเจอปัญหาเดียวกันกับเครื่องบินอักทั้งต้องใช้พลังงานงานสูงกว่าเดิมในการบิน

 
นายณัฎฐ์สุพล ชุติธนภานนท์

นักศึกษาระดับปริญญาเอก โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.)
 
ศูนย์ความเชี่ยวชาญเทคโนโลยีแก้ว(GTEC) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี



อ้างอิง