ฝุ่นผงจากดาวเคราะห์น้อยอาจเป็นสาเหตุของการเกิดยุคน้ำแข็งในอดีต

29-10-2019 อ่าน 3,337

การชนกันของดาวเคราะห์น้อยในอวกาศส่งฝุ่นจำนวนมหาศาลลงมาสู่โลก
ที่มา Don Davis, Southwest Research Institute

 
          ตลอดระยะเวลากว่า 4,600 ล้านปีที่โลกของเราถือกำเนิดขึ้นมา โลกได้ผ่านเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือจนสิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่ต้องสูญพันธุ์มาแล้วถึง 5 ครั้ง ซึ่งสาเหตุของการสูญพันธุ์ในบางเหตุการณ์นักวิทยาศาสตร์ก็ศึกษาจนทราบอย่างแน่ชัด แต่สาเหตุในบางเหตุการณ์ก็ยังคลุมเครือ และในบทความนี้ผู้เขียนจะเล่าเรื่องการค้นพบหลักฐานที่อาจเป็นสาเหตุของการสูญพันธุ์ในยุคออร์โดวิเชียน-ไซลูเรียน (Ordovician-Silurian Mass Extinction) ที่เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 466 ล้านปีก่อนครับ


          ยุคออร์โดวิเชียนเป็นช่วงเวลาที่โลกมีอุณหภูมิอบอุ่นกว่าในปัจจุบัน ผืนแผ่นดินจึงโอบล้อมไปด้วยทะเลและมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ที่มีปะการัง ปลาหมึก หอย ปลา และสิ่งมีชีวิตโบราณขนาดเล็กอีกนานาชนิด แต่แล้วสัตว์น้ำเหล่านั้นส่วนใหญ่ก็ต้องสูญพันธุ์ไปอย่างเป็นปริศนา ซึ่งสาเหตุของการสูญพันธุ์ในครั้งนั้นนักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่สามารถบอกได้อย่างชัดเจน แต่หลักฐานทางภูมิอากาศบรรพกาลวิทยา (Paleoclimatology) ได้บ่งชี้ว่าสาเหตุดังกล่าวเกิดจากมีอะไรบางอย่างมาทำให้อากาศทั่วโลกเย็นลงจนกลายเป็นยุคน้ำแข็ง!


          โลกของเรามีฝุ่นจากอวกาศ (Space Dust) ตกลงมาประมาณ 40,000 ตันเป็นประจำทุกปี ฝุ่นเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภูมิอากาศของโลกมากนัก แต่ถ้าหากปริมาณฝุ่นเพิ่มขึ้น 1,000 ถึง 10,000 เท่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันอย่างมหาศาล คณะวิจัยของ B. Schmitz แห่ง Sweden’s Lund University ได้ตีพิมพ์งานวิจัยชื่อ An extraterrestrial trigger for the Mid-Ordovician ice age: Dust from the breakup of the L-chondrite parent body ลงในวารสาร Science Advances ผลการศึกษาของพวกเขาได้เปิดเผยว่าดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดอย่างน้อย 93 ไมล์ที่โคจรอยู่ระหว่างดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดีอาจพุ่งชนกันจนแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย จากนั้นฝุ่นผงและเศษวัตถุจากการชนก็ค่อยๆ หล่นลงสู่โลกเป็นเวลานานหลายล้านปีแล้วบดบังแสงอาทิตย์จนอุณหภูมิของโลกลดลงประมาณ 50 องศาฟาเรนไฮต์แล้วกลายเป็นยุคน้ำแข็ง โดยพวกเขาได้ค้นพบหลักฐานสนับสนุนเป็นฝุ่นอวกาศในชั้นหินโบราณอายุ 466 ล้านปีและเปรียบเทียบมันกับเศษอุกกาบาตขนาดเล็ก (Micrometeorites) จากทวีปแอนตาร์กติกาซึ่งคาดว่ามีที่มาจากแหล่งเดียวกัน


หน้าผาชั้นหินโบราณที่เคยเป็นพื้นทะเล ซึ่งคณะวิจัยพบเศษฝุ่นจากดาวเคราะห์น้อยสะสมตัวอยู่
ที่มา Philipp Heck, Field Museum


เศษชิ้นส่วนอุกกาบาตที่หลงเหลืออยู่ในชั้นหิน
ที่มา John Weinstein, Field Museum

 
          การค้นพบเศษฝุ่นจากอวกาศที่ตกลงมายังโลกในช่วงเวลาเดียวกันกับที่เกิดการสูญพันธุ์ในยุคออร์โดวิเชียน-ไซลูเรียนน่าจะไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะหลักฐานดังกล่าวเข้ากันได้อย่างพอเหมาะพอเจาะกับการเย็นตัวลงอย่างรวดเร็วของโลกในยุคนั้น การค้นพบในครั้งนี้จึงเป็นหลักฐานที่ค่อนข้างน่าเชื่อถือว่าฝุ่นจากอวกาศอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้โลกในยุคออร์โดวิเชียน-ไซลูเรียนกลายเป็นน้ำแข็งนั่นเอง

 
บทความโดย สมาธิ ธรรมศร
ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


อ้างอิง