นักวิทยาศาสตร์สร้างแผนที่ลมของดาวอังคารเป็นครั้งแรก

29-01-2020 อ่าน 2,309

 
คอมพิวเตอร์แสดงเส้นทางโคจร (จุดสีขาว) ขณะยาน MAVEN ทำแผนที่ลม (เส้นสีฟ้า) บนดาวอังคาร ส่วนเส้นสีแดงแสดงความเร็วและทิศทางของลมท้องถิ่นที่ถูกวัดโดยอุปกรณ์ NGIMS
ที่มา NASA Goddard/MAVEN/SVS/Greg Shirah

 
          เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ.2019 ที่ผ่านมา คณะวิจัยนำโดย Mehdi Benna จาก NASA Goddard Space Flight Center และคณะวิจัยนำโดย Kali Roeten จาก University of Michigan ได้ตีพิมพ์งานวิจัยลงในวารสาร Science และวารสาร Geophysical Research-Planets ตามลำดับ โดยงานวิจัยทั้งสองเกี่ยวข้องกับการไหลเวียนของกระแสลมในชั้นบรรยากาศของดาวอังคาร


          เมื่อประมาณ 5 ปีก่อน ยานสำรวจ Mars Atmosphere and Volatile EvolutioN (MAVEN) ได้ถูกส่งขึ้นไปโคจรรอบดาวอังคารเพื่อศึกษาความเป็นมาของชั้นบรรยากาศ ซึ่งข้อมูลก่อนหน้านี้ได้แสดงให้เห็นว่าชั้นบรรยากาศของดาวอังคารถูกทำให้เบาบางลงจากการกัดเซาะของลมสุริยะ (Solar Wind Erosion) และในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คณะวิจัยได้ใช้ข้อมูลจาก Neutral Gas and Ion Mass Spectrometer (NGIMS) ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำหรับศึกษาโครงสร้างและส่วนประกอบของชั้นบรรยากาศของดาวอังคารด้วยการวัดไอออนและแก๊ส โดยอุปกรณ์ดังกล่าวติดตั้งอยู่ข้างใต้ของยานสำรวจซึ่งโคจรอยู่ที่ระดับความสูงประมาณ 140 ถึง 240 กิโลเมตร โดยคณะวิจัยได้ใช้ “การแกว่ง” ของ NGIMS ระหว่างที่ยานสำรวจโคจรไปรอบๆ ดาวอังคารเพื่อศึกษาความเร็วและทิศทางของกระแสลมในแนวนอนเหนือพื้นผิวของดาวอังคาร



Neutral Gas and Ion Mass Spectrometer
ที่มา NASA/GSFC

 
          จากการทดลองดังกล่าว คณะวิจัยสามารถวัดการเกิดคลื่นแรงโน้มถ่วงในชั้นบรรยากาศ (Atmospheric Gravity Waves) ที่เกิดจากการเคลื่อนที่แบบระลอกคลื่น (Ripple Effects) ของกระแสลมเหนือหุบเหว แอ่ง และภูเขาบนดาวอังคารได้ ซึ่งปรากฏการณ์นี้สามารถเกิดขึ้นบนโลกได้เช่นกัน แต่จะเกิดในบริเวณที่อยู่สูงจากพื้นผิวโลกไม่มากนัก ในขณะที่ปรากฏการณ์เดียวกันบนดาวอังคารสามารถเกิดที่ระดับความสูงถึง 280 กิโลเมตรเหนือพื้นดินเลยทีเดียว!



ลูกศรสีฟ้าแสดงกระแสลมที่พัดผ่านพื้นผิวแล้วทำให้เกิดคลื่นแรงโน้มถ่วง (เส้นสีเทา) ในบรรยากาศ
ที่มา NASA Goddard/MAVEN/CI Lab/Jonathan North

 
          อย่างไรก็ตาม สาเหตุของการเกิดคลื่นแรงโน้มถ่วงในชั้นบรรยากาศของดาวอังคารยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด แต่คณะวิจัยคาดว่าปรากฏการณ์นี้อาจเกิดจากชั้นบรรยากาศของดาวอังคารมีความเบาบางกว่าโลก หรืออาจเกิดจากลักษณะภูมิประเทศที่สูงและต่ำจนแตกต่างกันอย่างสุดขั้วบนดาวอังคาร ส่งผลให้การไหลของอากาศเปลี่ยนแปลงไปตามลักษณะพื้นผิวของดาวเคราะห์ (Orthographic Waves)


          นอกจากนี้ ผลการศึกษายังชี้ให้เห็นว่าหากพิจารณาในช่วงเวลาสั้นๆ ในขอบเขตแคบๆ กระแสลมบนดาวอังคารจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและยากต่อการคาดเดา แต่เมื่อพิจารณาภาพรวมในระยะยาวจะพบว่ารูปแบบการไหลเวียนของกระแสลมค่อนข้างมีความเป็นแบบแผนที่สามารถคาดการณ์ได้ คล้ายกับรูปแบบการไหลเวียนของกระแสลมบนโลก



วิดีโอแสดงการสร้างแผนที่ลมของดาวอังคาร
ที่มา NASA Goddard

 
          ความจริงแล้ว อุปกรณ์ NGIMS ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ศึกษาพฤติกรรมของลมในชั้นบรรยากาศของดาวอังคาร แต่ Benna เป็นผู้เสนอแนวคิดการวัดกระแสลมในแนวนอน “ทางอ้อม” ในปีค.ศ.2016 ซึ่งเดิมทีวิศวกรควบคุมยานสำรวจ MAVEN ไม่เห็นด้วยกับความคิดของเขา เพราะเกรงว่าวิธีดังกล่าวอาจสร้างความเสียหายให้กับอุปกรณ์และยานสำรวจได้ แต่ Benna ก็ไม่ย่อท้อ เขาจึงสอบถามไปยังบริษัท Lockheed Martin ผู้ผลิตยานสำรวจ ซึ่งทางผู้ผลิตได้วิเคราะห์แล้วว่าอุปกรณ์ของยานสำรวจสามารถรองรับการทดสอบตามแนวคิดของ Benna ได้โดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อตัวยาน ความต้องการของ Benna จึงกลายเป็นจริงและเป็นจุดกำเนิดของ “แผนที่ลมฉบับแรก” ของดาวอังคารในที่สุด ซึ่งข้อมูลเหล่านี้อาจเป็นชิ้นส่วนสำคัญต่อการศึกษาภูมิอากาศในอดีตรวมถึงอนาคตของดาวอังคารก็เป็นได้


          หมายเหตุ: คำว่าคลื่นแรงโน้มถ่วง (Gravity Wave) หมายถึงปรากฏการณ์ทางอุตุนิยมวิทยาและสมุทรศาสตร์ หมายถึงการไหลของของไหลที่มีลักษณะเป็นระลอกคลื่นภายใต้อิทธิพลของแรงโน้มถ่วง ซึ่งเป็นคนละสิ่งกับคลื่นความโน้มถ่วง (Gravitational Wave) ที่หมายถึงระลอกคลื่นของปริภูมิ-เวลา (Space-Time) ที่เกิดจากปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์

 
บทความโดย

สมาธิ ธรรมศร
ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


อ้างอิง