ร่มสุริยะ เทคโนโลยีใหม่ในการกำจัดน้ำเสีย

26-02-2020 อ่าน 2,926


การทำงานของร่มสุริยะ
ที่มา Berkeley Lab

 
          เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ.2017 ผู้เขียนและคณะได้รับการร้องขอจากชาวบ้านกลุ่มหนึ่งให้ไปช่วยตรวจบ่อพักน้ำทิ้งของโรงงานอุตสาหกรรมแห่งหนึ่ง เนื่องจากช่วงเวลานั้นเป็นฤดูฝน ส่งผลให้มีฝนตกหนักจนน้ำไหลบ่าไปตามผิวดิน (Runoff) แล้วน้ำในบ่อพักน้ำทิ้งก็ล้นทะลักออกสู่พื้นที่แหล่งน้ำสาธารณะ ในตอนนั้น ผู้เขียนคุยกับเพื่อนที่ลงพื้นที่ด้วยกันว่า “น่าจะมีคนคิดเทคโนโลยีคล้ายแว่นขยายอันใหญ่ๆ แล้วเอามาส่องที่ผิวน้ำของบ่อพักน้ำทิ้ง น้ำจะได้ระเหยเร็วๆ และตกตะกอนได้ไวกว่านี้” หลังจากนั้น ผู้เขียนก็ลืมเรื่องนี้ไปจนหมด เพราะคิดว่าคงไม่มีใครนำไปทำวิจัยอย่างจริงจัง



น้ำเสียจากบ่อพักล้นออกสู่พื้นที่สาธารณะ ภาพถ่ายโดยผู้เขียน

 
          กระทั่งเดือนมกราคม ค.ศ.2020 ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้อ่านงานวิจัยใหม่ของ Akanksha Menon และ Ravi Prasher แห่ง Berkeley Lab ที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Nature Sustainability โดยนักวิจัยทั้งสองได้ร่วมกันพัฒนา ร่มสุริยะ (Solar Umbrella) ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำหรับเร่งการระเหยของน้ำในบ่อพักน้ำทิ้ง แต่ก่อนที่ผู้เขียนจะเล่ารายละเอียดของงานวิจัยนี้ ผู้เขียนต้องเล่าเรื่องหน้าที่ของบ่อพักน้ำทิ้งแบบดั้งเดิมก่อน

 
          บ่อพักน้ำทิ้ง (Wastewater Pond) มีหน้าที่รองรับน้ำทิ้งหรือน้ำเสียจากที่พักอาศัย โรงพยาบาล ชุมชน หรือโรงงานอุตสาหกรรมมาเก็บเอาไว้ในเพื่อรอให้น้ำทิ้งดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการบำบัดหรือรอให้เกิดการตกตะกอน ก่อนปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมหรือนำกลับมาใช้ใหม่ บ่อพักน้ำทิ้งแบบใช้พลังงานแสงอาทิตย์จัดเป็นบ่อพักน้ำแบบระเหย (Evaporation Pond) ที่เคยถูกใช้อย่างแพร่หลายในโรงไฟฟ้า โรงกลั่นน้ำทะเล (Desalination Plant) อุตสาหกรรมแก๊สและน้ำมัน รวมถึงอุตสาหกรรมการสกัดลิเธียม (Lithium Extraction) เนื่องจากมีต้นทุนต่ำมาก เพราะอาศัยพลังงานแสงอาทิตย์ในการทำให้น้ำระเหยแล้วรอให้สารต่างๆ ในบ่อตกตะกอน

 
 
บ่อระเหยเกลือในประเทศ Slovenia
ที่มา csakisti/Depositphotos

 
          อย่างไรก็ตาม บ่อระเหยน้ำจะสามารถใช้งานได้ดีเฉพาะในพื้นที่แห้งแล้งหรือกึ่งแห้งแล้ง (Arid Area หรือ Semi-Arid Area) ที่มีความชื้นต่ำและมีแสงอาทิตย์มาก แต่แสงอาทิตย์และความเร็วลมที่มีผลโดยตรงต่อการระเหยของน้ำก็มักมีค่าไม่สม่ำเสมอ อัตราการระเหย (Evaporation Rate) จึงมีค่าไม่แน่ไม่นอนตามไปด้วย ครั้นจะลงทุนพัฒนาระบบพยากรณ์อากาศเพื่อคาดการณ์แสงและลมล่วงหน้าเหมือนที่ใช้ในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนก็อาจจะไม่คุ้มทุนสำหรับการบำบัดน้ำทิ้งในโรงงานอุตสาหกรรม ซ้ำร้าย หากน้ำทิ้งที่ผลิตออกมามีปริมาณมาก ขนาดของบ่อพักน้ำก็จะต้องมีขนาดใหญ่ ซึ่งนกและสัตว์ต่างๆ อาจเข้ามากินน้ำและเป็นอันตรายต่อพวกมัน หรืออาจเกิดฝนตกหนักอย่างไม่คาดฝันจนน้ำทิ้งล้นออกมาจากบ่อเหมือนที่ผู้เขียนเคยพบ ดังนั้นการหาวิธีใหม่ๆ เพื่อเร่งให้น้ำระเหยเร็วขึ้นหรือดักจับสารอันตรายในน้ำให้มากขึ้นจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง


 
บ่อระเหยที่ทะเลสาบ Dead Sea เมื่อถ่ายภาพจากกระสวยอวกาศ
ที่มา NASA Earth Observatory

 
          จากปัญหาดังกล่าว ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจึงมีงานวิจัยจำนวนมากที่พยายามแก้ปัญหาของบ่อพักน้ำแบบระเหย ซึ่งงานวิจัยของ Akanksha Menon และ Ravi Prasher ก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยนักวิจัยได้อาศัยหลักการของน้ำที่มีสมบัติในการดูดซับแสงช่วง Mid-Infrared ได้มากมาใช้ให้เกิดประโยชน์ กล่าวคือเมื่อทำการฉายแสงอินฟราเรดในช่วงความยาวคลื่นดังกล่าวใส่น้ำก็จะทำให้เกิดชั้นความร้อนบางๆ หนาประมาณ 100 ไมโครเมตรขึ้นที่บริเวณผิวน้ำ นักวิจัยจึงสร้างเครื่องแปลงการแผ่รังสี (Radiation Transformer) ที่มีลักษณะเป็นแผ่นบางและติดตั้งมันเอาไว้เหนือบ่อระเหยน้ำประมาณหนึ่งฟุต เพื่อเปลี่ยนความยาวคลื่นของแสงอาทิตย์ในช่วง 400 ถึง 1,500 นาโนเมตรไปเป็น 3,000 นาโนเมตรหรือมากกว่า ซึ่งอยู่ในช่วง Mid-Infrared


          ขณะทำงาน ร่มสุริยะนี้จะดูดซับแสงอาทิตย์เอาไว้ แล้วปล่อยเฉพาะแสงในช่วง Mid-Infrared ลงไปที่ผิวน้ำ ซึ่งผลการทดลองในบ่อน้ำเกลือได้แสดงให้เห็นว่าอุปกรณ์นี้สามารถระเหยน้ำได้เร็วกว่าการระเหยด้วยวิธีธรรมชาติถึง 100 เปอร์เซ็นต์ และอาจเพิ่มขึ้นถึง 160 เปอร์เซ็นต์หากออกแบบระบบเชิงความร้อนให้ดียิ่งขึ้น ในลำดับถัดไป นักวิจัยต้องการที่จะปรับปรุงวัสดุที่ใช้ทำร่มสุริยะโดยเปลี่ยนจากพอลิเมอร์ไปเป็นวัสดุชนิดอื่นเพื่อให้มีราคาต้นทุนต่ำลงและใช้งานได้ในเชิงพาณิชย์ รวมถึงจะนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการสกัดลิเธียมและการกลั่นน้ำทะเล เพื่อเป็นการเพิ่มผลผลิตทางอุตสาหกรรมและทำให้มาตรฐานทางสิ่งแวดล้อมสูงยิ่งขึ้น

 
บทความโดย

สมาธิ ธรรมศร
ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


ที่มา