รังสีคอสมิกกับการเปลี่ยนแปลงความสูงของเทือกเขาแอลป์

22-01-2021 อ่าน 5,634


ภูเขา Eiger, Mönch และ Jungfrau
ที่มา Pixabay

 
          เทือกเขาแอลป์ (Alps) เป็นเทือกเขาที่ใหญ่สุดในทวีปยุโรป ครอบคลุมอาณาบริเวณตั้งแต่ประเทศออสเตรีย อิตาลี สโลวีเนีย สวิตเซอร์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ เยอรมนี และฝรั่งเศส ยอดเขาที่สูงที่สุดในเทือกเขาแอลป์มีชื่อว่า มงบล็อง (Mont Blanc) ซึ่งมีความสูงประมาณ 4,808 เมตร จากความรู้วิชานิรุกติศาสตร์ (Etymology) คำว่า Alps ในภาษาอังกฤษมีรากศัพท์มาจากคำว่า Albus ในภาษาฝรั่งเศสและภาษาละตินซึ่งมีความหมายว่า “สีขาว” ชื่อดังกล่าวจึงแสดงภาพลักษณ์ของเทือกเขาที่ถูกปกคลุมด้วยหิมะสีขาวโพลน เทือกเขาแอลป์ถือกำเนิดจากการเคลื่อนที่มาชนกันของแผ่นเปลือกโลกระหว่างแผ่นทวีปแอฟริกากับแผ่นทวีปยูเรเซีย ความเค้น (Stress) ที่กระทำตามแนวรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกจึงเป็นเหตุให้โครงสร้างทางธรณีวิทยาถูกแปรสภาพให้เสียรูป (Deformation) โดยการยกตัวเป็นเทือกเขา นักวิทยาศาสตร์เรียกกระบวนดังกล่าวว่า การก่อเทือกเขา (Orogeny หรือ Orogenesis)


         เมื่อเอ่ยถึงภูเขา ผู้อ่านหลายท่านอาจนึกถึงวิชาธรณีวิทยาเป็นอันดับแรก แต่ทราบไหมครับว่านักฟิสิกส์ก็มีวิธีสนุกๆ (แต่ล้ำลึก) ในการคำนวณความสูงของภูเขาเช่นกัน ซึ่งนักฟิสิกส์ท่านดังกล่าวก็มีวิถีชีวิตผูกพันและทำงานอยู่ไม่ใกล้ไม่งไกลจากเทือกเขาแอลป์ ชื่อของเขาคือ Victor Frederick Weisskopf ผู้ซึ่งเป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎีที่เชี่ยวชาญในสาขา Quantum Electrodynamics (QED) ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาฟิสิกส์ที่ Massachusetts Institute of Technology (MIT) และอดีตผู้อำนวยการของ the European Organization for Nuclear Research (CERN)



Victor Frederick Weisskopf

 
          นอกจากจะเป็นนักวิจัยชั้นยอด Weisskopf ก็ยังเป็นครูชั้นเยี่ยมด้วยเช่นกัน เพราะเขามักจะสอนให้นักเรียนรู้จักการนำความรู้ฟิสิกส์พื้นฐานมาหาคำตอบของคำถามต่างๆ เกี่ยวกับสิ่งที่อยู่รอบตัว ซึ่งคำถามที่ว่า “ภูเขาจะสูงที่สุดได้เท่าไร?” ก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยเขาได้ตีพิมพ์บทความชื่อ “Atoms, Mountains, and Stars: A Study in Qualitative Physics” ออกมาในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1975 ในบทความดังกล่าว เขาเสนอมุมมองอย่างง่ายว่าภูเขามีลักษณะเป็นแท่งตรงที่แข็งและตัน, วัสดุที่ประกอบเป็นภูเขาและพื้นแข็งที่รองรับภูเขาทำจากแร่ควอตซ์ในกลุ่มแร่ซิลิกาหรือซิลิกอนไดออกไซด์ (SiO2) ซึ่งเป็นแร่ที่แข็งและมีอยู่เป็นจำนวนมากบนแผ่นทวีป, กำหนดให้ H คือความสูงที่สุดที่สามารถเป็นไปได้ของภูเขา E คือพลังงานที่ทำให้โมเลกุลของซิลิกอนไดออกไซด์เกิดการหลอมเหลว m คือมวลของซิลิกอนไดออกไซด์ 1 โมเลกุล และ g คือความเร่งเนื่องจากแรงโน้มถ่วง จากนั้นเขียนความสัมพันธ์ออกมาเป็นสมการ

          โดยกำหนดให้ E เท่ากับ 2.176×10-20 จูล, m เท่ากับ 8.35×10-26 กิโลกรัม และ g เท่ากับ 9.8 เมตรต่อวินาที2 ผลการคำนวณจะพบว่า H มีค่าเท่ากับ 26 กิโลเมตร!


          หลายท่านอาจสงสัยว่า “เอ๊ะ ทำไมตัวเลขที่ได้ถึงสูงกว่ายอดเขาที่สูงที่สุดในโลกอย่างเอเวอเรสต์ (Everest) ซึ่งมีสูงประมาณ 8.8 กิโลเมตรเกือบ 3 เท่า?” คำตอบคือ Weisskopf แทนค่า E ด้วยพลังงานที่ทำให้ซิลิกอนไดออกไซด์เกิดการหลอมเหลว แต่ความจริงแล้วหากฐานของภูเขาไม่แข็งแรงพอก็จะเกิดการเสียรูปและพังทรุดลงมา ค่า E ตามความเป็นจริงจึงต่ำกว่าที่เขากำหนด นอกจากนี้ ค่า m ก็เกิดจากการประมาณ รวมถึงไม่ได้นำแร่อื่นๆ ในแผ่นทวีปมาร่วมพิจารณาด้วย ซึ่งหากทำการปรับเปลี่ยนตัวเลขให้ละเอียด ค่า H ก็จะลดต่ำลงมาจนใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากขึ้นนั่นเอง


          แม้เทือกเขาจะตั้งตระหง่านโดดเด่นอยู่บนผืนพิภพ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ภูมิอากาศ (Climate) จะทำให้เปลือกนอกของก้อนหินยักษ์เหล่านี้เกิดการสึกกร่อนเนื่องจากการผุพังอยู่กับที่ (Weathering) ตะกอนที่เปรียบเสมือนหนังกำพร้าจะเกิดการกัดเซาะ (Erosion) โดยลม ฝน และน้ำแข็ง แล้วไหลลงสู่แผ่นดินเบื้องล่าง กล่าวโดยสรุปคือการแปรธรณีสัณฐาน (Plate Tectonics) เป็นสาเหตุที่ทำให้เทือกเขาค่อยๆ สูงขึ้น แต่ภูมิอากาศและแรงโน้มถ่วงก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เทือกเขาค่อยๆ ต่ำลงด้วยอัตราที่ใกล้เคียงกัน เมื่อสังเกตจากระยะไกลด้วยสายตาของมนุษย์จึงพบว่าความสูงของเทือกเขามีค่าคงที่


          อย่างไรก็ตาม งานวิจัยของคณะวิจัยนานาชาตินำโดย ดร. Romain Delunel แห่ง Institute of Geological Sciences จาก University of Bern ที่เผยแพร่ในวารสาร Earth-Science Reviews เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2020 ที่ผ่านมาได้เปิดเผยเป็นครั้งแรกว่าเทือกเขาแอลป์ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์กำลังยกระดับความสูงขึ้น โดยมีหลักฐานบ่งชี้เป็นตะกอนทรายที่เก็บรวบรวมมาจากแม่น้ำ 350 สายซึ่งปะปนไปด้วยไอโซโทป (Isotope) ของแร่ที่เกิดจากรังสีคอสมิก (Cosmic Ray)


          เมื่อรังสีคอสมิกจากอวกาศเคลื่อนที่ผ่านบรรยากาศลงมากระทบพื้นผิวโลก อะตอมของออกซิเจนภายในแร่ควอตซ์ (Quartz) ก็จะเกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์แล้วเกิดเป็นไอโซโทปของธาตุเบริลเลียม-10 (Beryllium-10 หรือ 10Be) จากหลักการดังกล่าวจึงสรุปได้ว่าแร่ควอตซ์ที่มีธาตุเบริลเลียม-10 ปริมาณมาก แปลว่าแร่ควอตซ์นั้นสัมผัสกับรังสีคอสมิกมาเป็นเวลานานและมีอายุมาก แต่หากแร่ควอตซ์มีธาตุเบริลเลียม-10 ปริมาณน้อย แปลว่าแร่ควอตซ์นั้นสัมผัสกับรังสีคอสมิกมาไม่นานและมีอายุน้อย ด้วยเหตุนี้ เมื่อทำการวิเคราะห์ปริมาณไอโซโทปของธาตุเบริลเลียม-10 ภายในตะกอนของแร่ควอตซ์ที่ถูกกัดเซาะและพัดพาลงมาตามแม่น้ำลำธารก็จะสามารถคำนวณหาอัตราการกัดเซาะ (Erosion Rate) บนเทือกเขาได้



การเกิดเบริลเลียม-10
ที่มา http://ice-age-ahead-iaa.ca/scrp_minimum/tmaa014.htm

 
          จากผลการศึกษาพบว่าเขตอัลไพน์ (Alpine Region) มีอัตราการกัดเซาะที่ผันผวนประมาณ 400 มิลลิเมตรต่อสหัสวรรษ โดยอัตราการกัดเซาะที่เร็วที่สุดพบที่รัฐ Valais โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณแอ่ง Illgraben ซึ่งมีอัตราการกัดเซาะประมาณ 7,500 มิลลิเมตรต่อสหัสวรรษ ส่วนพื้นที่ที่มีอัตราการกัดเซาะช้าที่สุดอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ บริเวณภูมิประเทศทางตะวันออกของแม่น้ำ Thur ซึ่งถูกกัดเซาะเพียง 14 มิลลิเมตรต่อสหัสวรรษ ในเทือกเขาแอลป์ตอนกลางความแตกต่างระหว่างการยกขึ้นและการกัดเซาะนั้นมีมากถึง 800 มิลลิเมตรต่อสหัสวรรษ แสดงให้เห็นว่าเทือกเขาแอลป์ตอนกลางยังคงมีการเติบโตอย่างรวดเร็วจนน่าประหลาดใจ ขณะที่เทือกเขาแอลป์ทางตะวันตกมีอัตราการกัดเซาะและการยกระดับอยู่ในระดับสมดุล ส่วนเทือกเขาแอลป์ทางตะวันออกมีอัตราการกัดเซาะเร็วกว่าการยกระดับ


          นอกจากนี้ ผลการตรวจสอบของคณะสำรวจยังแสดงให้เห็นว่าอิทธิพลของของไหลอย่างลมและน้ำ รวมถึงของแข็งที่ไหลได้อย่างน้ำแข็งแทบจะไม่มีผลต่ออัตราการกัดเซาะเลย แต่ความลาดชันกลับมีผลต่อการกัดเซาะมากกว่า อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์นี้อาจแตกต่างออกไปในภูมิประเทศที่มีความสูงชันบางแห่ง เนื่องจากมีการพบว่าหินแกรนิตและหินปูนของภูเขาบางแห่งมีอัตราการสึกกร่อนช้ากว่าปกติ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าประหลาด เพราะโดยทั่วไปแล้วภูมิประเทศที่มีความสูงชันมากจะถูกกัดเซาะอย่างรวดเร็ว คณะวิจัยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเหตุใดจึงไม่เป็นเช่นนั้น ทำให้ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปในอนาคต


          ไม่น่าเชื่อเลยนะครับ ว่ารังสีคอสมิกจากอวกาศอันไกลโพ้นและแร่ควอตซ์ขนาดจิ๋วที่ปะปนอยู่ในเม็ดทรายจะกลายเป็น “ตัวช่วย” ที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถศึกษาอัตราการกัดเซาะในปัจจุบันและในอดีตอันไกลโพ้นของเทือกเขาที่สูงเสียดฟ้าได้

 
บทความโดย

สมาธิ ธรรมศร

ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


อ้างอิง