การใช้ลูกตุ้มชนิดบิด (torsion pendulum) ในการช่วยหาโมเมนต์ความเฉื่อย (moment of inertia)

25-01-2021 อ่าน 6,845
 
เครดิต https://www.sfscientific.com/science/2016/03/07/compound-pendulum-torsion-pendulum/

 
          ลูกตุ้มชนิดบิด (torsion pendulum)  คืออะไรและต่างจากลูกตุ้มปรกติ (physical pendulum) อย่างไร จริงๆแล้วทั้งสองอย่างมีลักษณะคล้ายกันคือจัดเป็นการเคลื่อนที่แบบฮาร์มอนิกอย่างง่าย (simple harmonic motion) หมายถึงการเคลื่อนที่ของวัตถุกลับไปมาซ้ำทางเดิมผ่านตำแหน่งสมดุล โดยมีขนาดของความเร่งเป็นสัดส่วนกับขนาดของการกระจัด แต่มีทิศทางตรงข้าม ซึ่งเราจับมวลมาติดที่ปลายสปริงยืดออกและปล่อย มวลติดปลายสปริงก็ถือเป็นการเคลื่อนที่แบบฮาร์มอนิกอย่างง่ายเช่นกันแต่ถือเป็นในเชิงเส้น ส่วนลูกตุ้มชนิดบิดนั้นเป็นการเคลื่อนที่แบบฮาร์มอนิกอย่างง่ายเชิงมุม (angular simple harmonic motion) โดยลูกตุ้มชนิดบิดจะหมุนไปกลับเป็นมุมเล็กๆ θ โดยมีทอร์กดึงกลับ (restoring torque) นิยามโดยสมการ

 
                                                           τ=-κθ                                                     (1)
 
 
โดย τ,κ,θ คือ ทอร์กดึงกลับ (restoring torque) ค่าคงที่การบิด (torsion constant) และแอมพลิจูดเชิงมุมของการบิดตามลำดับ
 
การทำงานของลูกตุ้มชนิดบิด
เครดิต Halliday, D., Resnick, R., & Walker, J. (2013). Fundamentals of physics. John Wiley & Sons.


          จะสังเกตได้ว่า (1) นี้คล้ายกับกฎของฮุกที่กล่าวว่า เมื่อมีแรงดึงหรือกดวัสดุ ความยาวที่ยืดออกหรือหดเข้าของวัสดุจะเป็นสัดส่วนกับแรงแต่ต่างกันตรงที่ (1) จะเป็นกฎของฮุกในแบบเชิงมุมโดยแทนที่จะมีค่า k คือค่าคงที่ของสปริงใช้วัดความแข็งหรืออ่อนของสปริงใน (1) กลับมีค่า κ มาแทนที่โดยหมายถึงค่าคงที่การบิดซึ่งขึ้นอยู่กับความยาวของลวด ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของลวดและวัสดุที่ใช้ทำลวดแขวนของลูกตุ้มชนิดบิด


          ระบบลูกตุ้มชนิดบิดประกอบด้วยเส้นลวดที่สามารถหมุนบิดได้ที่ด้านบนสุดนั้นถูกยึดติดแน่นแขวนไว้ โดยส่วนล่างสุดนั้นมีแผ่นกลมแขวนอยู่ หรืออาจจะใช้วัสดุที่มีรูปร่างอื่นๆแทนก็ได้ โดยสมมติว่าแผ่นกลมที่แขวนอยู่นั้นถูกบิดเป็นมุมเล็กๆและปล่อยเป็นอิสระ แผ่นกลมมันก็จะบิดไปกลับเรื่อยๆ โดยทอร์กดึงกลับของระบบนั้นจะแปรผันตรงกับมุม θ ที่ถูกบิด นั้นหมายความว่ายิ่งมุม θ มีค่ามาก τ ก็ยิ่งจะมีค่ามากตามไปด้วย ซึ่งจะสอดคล้องกับ (1)  


           หลายคนอาจสงสัยว่าแล้วลูกตุ้มชนิดบิดมีประโยชน์อะไรบ้าง ทำไมเราถึงสร้างมันขึ้นมา จริงๆแล้วมันมีประโยชน์หลายอย่างเช่นเราสามารถใช้ลูกตุ้มชนิดบิดมาสร้างเป็นนาฬิกาได้ สำหรับผู้สนใจสามารถดูวิดีโอการทำงานได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=sQj5HDKk238&ab_channel=WhatTheHey แต่ในครั้งนี้จะพูดถึงประโยชน์อีกหนึ่งอย่างที่สำคัญของมันคือมันยังสามารถนำไปใช้หาโมเมนต์ความเฉื่อย (moment of inertia) ได้

 
โมเมนต์ความเฉื่อยของวัตถุรูปทรงต่าง ๆ
เครดิต https://physicsabout.com/moment-of-inertia/


          โมเมนต์ความเฉื่อย หมายถึงปริมาณที่บ่งบอกถึงความเฉื่อยต่อการหมุน จะมีบทบาทเหมือนกับมวลในกรณีของการเลื่อนที่ โมเมนต์ความเฉื่อยเป็นปริมาณสเกลาร์ ในตอนเรียนเรื่องโมเมนต์ความเฉื่อย เราจะพบว่าบางรูปทรงที่ไม่ซับซ้อนมากนัก จะมีสูตรการหาโมเมนต์ความเฉื่อยของรูปทรงนั้นอยู่ หรือตอนเรียนเราอาจจะใช้ทฤษฎีบทแกนขนาน (parallel axis theorem) ในการช่วยคำนวณหาโมเมนต์ความเฉื่อยได้ หรือในบางวัตถุรูปทรงที่แปลกๆที่เราไม่มีสูตรในการคำนวณ เราสามารถใช้การทดลองเรื่องลูกตุ้มชนิดบิดช่วยคำนวณได้โดยใช้ความรู้ที่ว่าคาบของลูกตุ้มชนิดบิดสามารถเขียนเป็นความสัมพันธ์ได้คือ

 
                                                           T=2π√(I/k)                                                  (2)      

        
          โดยที่ T,I,k คือ คาบของลูกตุ้มชนิดบิด โมเมนต์ความเฉื่อยและค่าคงที่การบิดตามลำดับ โดยหลักการคำนวณก็คือนำวัตถุเช่นทรงแผ่นกลมมาแขวนสร้างเป็นลูกตุ้มชนิดบิด โดยเราทราบโมเมนต์ความเฉื่อยของทรงแผ่นกลมนี้ (I_a) ก่อนแล้ว(เพราะเป็นรูปทรงมาตรฐานมีสูตรคำนวณโมเมนต์ความเฉื่อย) และมาทดลองหาคาบของลูกตุ้มชนิดบิดนี้ (T_a) เราก็จะสามารถคำนวณค่าคงที่การบิดของเส้นลวดได้ κ และเมื่อเรานำวัตถุที่เราไม่ทราบโมเมนต์ความเฉื่อยมาแขวนเป็นลูกตุ้มชนิดบิด เพราะว่าลวดที่ใช้แขวนเป็นเส้นลวดเดิมจึงมีค่าคงที่ของการบิดคงเดิม เมื่อเราทดลองหาค่าคาบของลูกตุ้มชนิดบิดที่แขวนโดยวัตถุที่เราไม่ทราบโมเมนต์ความเฉื่อย (T_b) เราก็จะสามารถคำนวณหาโมเมนต์ความเฉื่อยของวัตถุที่เราไม่ทราบค่า (I_b) ได้โดยอาศัย (2) สุดท้ายเราจะได้สมการที่ใช้คำนวณหาโมเมนต์ความเฉื่อยของวัตถุที่เราไม่ทราบค่า

 
                                                            I_b=I_a  (T_b^2)/(T_a^2 )                                                   (3)


          ซึ่งต้องเน้นย้ำก่อนว่าโมเมนต์ความเฉื่อยที่คำนวณได้นั้นต้องเป็นแบบที่แกนหมุนประมาณจากจุดศูนย์กลางของวัตถุเท่านั้น จะเห็นว่าลูกตุ้มชนิดบิดมีประโยชน์สำหรับใช้คำนวณโมเมนต์ความเฉื่อยของวัตถุที่ไม่ใช่รูปทรงปรกติที่มีสูตรพื้นฐานในการคำนวณหาโมเมนต์ความเฉื่อย


เรียบเรียงโดย

ณัฐพล โชติศรีศุภรัตน์

นักศึกษาระดับปริญญาเอก ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


อ้างอิง