ประโยชน์ทางตรงและทางอ้อมของวิทยาศาสตร์ : ศูนย์วิจัย CERN และเวิลด์ไวด์เว็บ

12-07-2021 อ่าน 2,122
          ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมงานสัมมนาครบรอบ 25 ปี สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ชื่องาน International Forum on Transforming Productivity for Tomorrow Success เมื่อวันที่ 19-20 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2020 จัดโดยสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สังกัดกระทรวงการคลัง มีนักคิด ผู้กำหนดนโยบายคนสำคัญของประเทศมากมาย เช่น ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น ในงานสัมมนามีการพูดถึงปัญหาและวิธีการเพิ่มผลิตภาพ (productivity) ในการทำงาน เพื่อจะหลุดพ้นภาวะกับดักรายได้ปานกลาง (middle-income trap) ไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยจะต้องไม่มองเพียงแค่อัตราการเจริญติบโตของเศรษฐกิจโดยใช้ตัวชี้วัดผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (gross domestic product : GDP) แต่จะต้องมองไปถึงผลิตภาพโดยรวม (Total Factor Productivity : TFP) ด้วย ซึ่งเป็นที่ทราบกันแน่ชัดแล้วว่าการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน (competitiveness) และการเพิ่มผลิตภาพโดยรวมนั้น การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมีส่วนสำคัญมาก ซึ่งตรงนี้เองงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์และวิทยาศาสตร์ประยุกต์มีส่วนสำคัญมากในกาสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ

 
ดร.พานิช เหล่าศิริรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ขึ้นกล่าวอธิปรายในงาน International Forum on Transforming Productivity for Tomorrow Success
เครดิต https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9630000017220


          เมื่อคำนึงถึงภาวะเสมอภาคของอำนาจซื้อ (purchasing power parity) แล้ว ประเทศสหรัฐอเมริกาใช้งบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนาต่อปีประมาณ 511 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 2.19 ของ GDP ประเทศญี่ปุ่นใช้งบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนาต่อปีประมาณ 165 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 3.14 ของ GDP ขณะที่ประเทศไทยใช้งบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนาต่อปีประมาณ 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 0.39 ของ GDP จะเห็นว่าประเทศที่พัฒนาแล้วให้ความสำคัญแก่การวิจัยมาก ซึ่งประเทศไทยจะต้องมีการพัฒนาสนับสนุนการวิจัยมากขึ้น หรือเมื่อมาดูจำนวนนักวิจัยที่ทำงานเต็มเวลาเทียบกับจำนวนประชากร เราจะพบว่าประเทศที่พัฒนาแล้วมีอัตราส่วนจำนวนนักวิจัยสูงมาก กล่าวโดยสรุปแล้วเพื่อที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ประเทศไทยต้องเพิ่มงบประมาณเพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนารวมทั้งผลิตบุคลากรที่เป็นนักวิจัยให้มากขึ้น


จำนวนนักวิจัยต่อจำนวนประชากร 1 ล้านคนในแต่ละประเทศ
เครดิต http://chartsbin.com/view/1124


          วิทยาศาสตร์เป็นสาขาวิชาใหญ่ที่ศึกษาความรู้เกี่ยวกับสิ่งต่างๆในธรรมชาติทั้งสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต ประโยชน์ทางตรงของวิทยาศาสตร์ก็คือเราจะเข้าใจปรากฎการณ์ต่างๆในธรรมชาติมากยิ่งขึ้น ซึ่งสำหรับนักวิทยาศาสตร์หลายคนเพียงแค่เข้าใจการทำงาน กลไลของธรรมชาติก็เพียงพอมีความสุขแล้ว แต่เมื่อเราเข้าใจธรรมชาติเราก็อาจควบคุมหรือนำความรู้นั้นไปสร้างสิ่งต่างๆเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่มนุษย์ หรือในการทำงานวิจัยเพื่อเป้าหมายคือความรู้อย่างหนึ่งระหว่างการวิจัยอาจจะทำให้เราได้เทคโนโลยีที่นับเป็นผลพลอยได้อีกอย่างหนึ่งมาด้วย ยกตัวอย่างเช่นศูนย์วิจัย CERN และเวิลด์ไวด์เว็บ
 

          องค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรปหรือที่เราคุ้นเคยกันกับคำว่า CERN เป็นศูนย์วิจัยขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่บริเวณพรมแดนประเทศประเทศสวิตเซอร์แลนด์และประเทศฝรั่งเศส ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1954 ศูนย์วิจัยนี้เน้นการวิจัยด้านฟิสิกส์อนุภาค โดยมีเครื่องเร่งอนุภาค โดยเฉพาะ Large Hadron Collider (LHC) เครื่องเร่งอนุภาคขนาดใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน การค้นพบครั้งสำคัญคือในปี ค.ศ. 2013 นักวิจัยที่ CERN ประกาศยืนยันการค้นพบฮิกส์โบซอน หนึ่งในอนุภาคมูลฐานที่มีการทำนายการมีอยู่ของมันก่อนหน้าที่จะมีการค้นพบหลายสิบปี มีการค้นคว้าวิจัยอีกจำนวนมาก


          ในด้านฟิสิกส์อนุภาคที่ CERN ที่นี่มีนักวิจัยจำนวนมากทำงานอยู่และทำงานร่วมกันมหาวิทยาลัยต่างๆทั่วโลก การส่งต่อแลกเปลี่ยนข้อมูลจึงมีความสำคัญยิ่ง 

 
โครงร่างแนวคิดเวิลด์ไวด์เว็บของทิม เบอร์เนิร์ส-ลี
เครดิต  http://info.cern.ch/www20/photos/


          ทิม เบอร์เนิร์ส-ลี (Tim Berners-Lee) นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ได้ทำงานอยู่ที่ CERN ที่นี่นั้นเป็นดังศูนย์กลางของการวิจัยที่นักวิจัยกว่าหมื่นคน จากมากกว่า 100 ประเทศทำงานร่วมกันดังนั้นการติดต่อสื่อสารเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างนักวิจัยจึงสำคัญมาก ทิม เบอร์เนิร์ส-ลีได้เขียนโครงร่างแนวคิดเวิลด์ไวด์เว็บในปี ค.ศ. 1989 ในปลายปี ค.ศ. 1990 เขาก็สร้างเว็บเซิร์ฟเวอร์แห่งแรกได้สำเร็จโดยใช้คอมพิวเตอร์ NeXT มันใช้งานได้ง่ายและเป็นประโยชน์แก่นักวิจัยที่ทำงานโดยมีลิงค์ที่เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่นักวิจัยเพื่อใช้ศึกษาค้นคว้า ไม่นานจากแค่ใช้งานในหมู่นักวิจัยมันก็ได้เริ่มแพร่กระจายได้รับความนิยมไปทั่วโลก


          หลายคนอาจสับสนระหว่างคำว่าอินเทอร์เน็ต (Internet) กับเวิลด์ไวด์เว็บ (World Wide Web) เวิลด์ไวด์เว็บนั้นเป็นแค่บริการหนึ่งในอินเทอร์เน็ตที่ได้รับความนิยมมาก เป็นการให้บริการข้อมูลแบบไฮเปอร์เท็กซ์ ที่ประกอบไปด้วยเอกสารจำนวนมากที่มีการเชื่อมโยงกัน ซึ่งเป็นแหล่งของข้อมูลขนาดใหญ่ที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสามารถเข้าถึงผ่านโพรโทคอลที่เรียกว่า เอชทีทีพี นอกจากนี้องค์กร W3C ได้นิยามคำว่าเว็บคือ จักรวาลของสารสนเทศที่สามารถเข้าถึงได้ผ่านเครือข่าย และทำให้เกิดองค์ความรู้แก่มนุษยชาติ ส่วนอินเทอร์เน็ตหมายถึงเครือข่ายขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อเครือข่ายคอมพิวเตอร์ขององค์กรธุรกิจ หน่วยงานของรัฐบาล สถานศึกษา ตลอดจนเชื่อมโยงบุคคลต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน ทำให้ข้อมูล สารสนเทศ สินค้า และบริการที่นำเสนอผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์เหล่านี้สามารถเข้าถึงได้จากคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อื่นๆ ซึ่งได้เริ่มถือกำเนิดขึ้นประมาณปี ค.ศ. 1960 ส่วนเวิลด์ไวด์เว็บนั้น เบอร์เนิร์ส-ลี คิดค้นขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1989


เว็บเซิร์ฟเวอร์แห่งแรกใช้โดยทิม เบอร์เนิร์ส-ลีในปี ค.ศ. 1990
เครดิต  http://info.cern.ch/www20/photos/
 

          จะเห็นได้ว่าประโยชน์ทางตรงของของ CERN คือทำให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจฟิสิกส์อนุภาคมากขึ้น แต่ผลประโยชน์ทางอ้อมหนึ่งในนั้นคือการถือกำเนิดขึ้นของเวิลด์ไวด์เว็บ เป็นการบริการทางอินเทอร์เน็ตที่ผู้คนหลายพันล้านคนทั่วโลกในปัจจุบัน ใช้ติดต่อสื่อสารกัน สร้างเป็นประโยชน์มหาศาล สิ่งเหล่านี้เองล้วนมีต้นกำเนิดมาจากการวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์


          ยังมีตัวอย่างอีกจำนวนมากที่คล้ายๆกันนี้ เช่น องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติหรือองค์การนาซา มีภารกิจหลักคือโครงการอวกาศและงานวิจัยในห้วงอวกาศ เช่นการสำรวจดวงจันทร์และดาวเคราะห์อื่นๆ ผลประโยชน์ทางตรงของการวิจัยด้านนี้คือทำให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจเรื่องดาราศาสตร์ และอวกาศมากขึ้น แต่ยังมีผลประโยชน์ทางอ้อมอีกเช่น ในการส่งคนไปสำรวจอวกาศองค์การนาซาได้คิดค้นเทคโนโลยีต่างๆมากมาย และบางอย่างสามารถนำมาใช้ประโยชน์แก่มนุษย์ในชีวิตประจำวันได้เช่น เซลล์แสงอาทิตย์ เซนเซอร์รูปภาพแบบ CMOS (CMOS image sensor) ที่ใช้ในกล้องถ่ายภาพ เทคโนโลยีการอบแห้งอาหารแบบแช่เยือกแข็ง (freeze-dried food) เป็นต้น


          จะเห็นได้ว่าประโยชน์ของวิทยาศาสตร์ทั้งการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์และวิทยาศาสตร์ประยุกต์สร้างประโยชน์แก่มนุษยชาติอย่างมหาศาล มันเปลี่ยนวิถีชีวิต การทำงาน ความสัมพันธ์ของมนุษย์ทุกคน ช่วยอำนวยความสะดวก วิทยาศาสตร์ไม่ได้ช่วยให้เราเข้าใจเอกภพ เข้าธรรมชาติแต่ยังช่วยให้เรานำความเข้าใจนั้นมาสร้างเป็นเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆมากมาย 

 
          สำหรับผู้สนใจฟังสัมมนา งาน International Forum on Transforming Productivity for Tomorrow Success สามารถชมวิดีโอย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/pg/ThailandProductivity/videos/?ref=page_internal
 
เรียบเรียงโดย

ณัฐพล โชติศรีศุภรัตน์

ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

 
อ้างอิง