ดาวบ้านเกิดของสป็อคไม่ได้มีแต่ในนิยาย

19-10-2018 อ่าน 11,474

       ทีมนักดาราศาสตร์ได้ค้นพบดาวเคราะห์ (planet) ขนาดใหญ่กว่าโลกประมาณสองเท่า โคจรรอบดาวฤกษ์ (star) HD 26965 หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า 40 Eridani A ซึ่งอยู่ห่างจากโลกออกไป 16 ปีแสง ดาวเคราะห์นี้ถูกตั้งชื่อว่า HD 26965 b นอกจากความน่าสนใจในแง่ของดาราศาสตร์แล้ว การค้นพบครั้งนี้ยังได้รับการกล่าวถึงในวงกว้างและได้สร้างความตื่นเต้นให้กับบรรดาแฟนนิยายวิทยาศาสตร์เรื่อง สตาร์ เทรค (Star Trek) เป็นอย่างมาก เนื่องจากดาวฤกษ์ 40 Eridani A ได้ถูกนำไปเชื่อมโยงกับ “ดวงอาทิตย์” ที่ดาวเคราะห์วัลแคน (Vulcan) บ้านเกิดของสป็อค (Spock) โคจรรอบอยู่ นั่นหมายถึงว่าดาวเคราะห์ที่ทีมนักดาราศาสตร์ค้นพบ เทียบเท่ากับดาวเคราะห์วัลแคนใน สตาร์ เทรค นั่นเอง


       สตาร์ เทรค เป็นสื่อบันเทิงสัญชาติอเมริกัน สร้างโดย ยีน ร็อดเดนเบอร์รี (Gene Roddenberry) ถูกนำเสนอครั้งแรกในปี 1966 ในรูปแบบของละครโทรทัศน์ มีชื่อว่า สตาร์ เทรค: ดิออริจินอลซีรีส์ (Star Trek: The Original Series) ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีเยี่ยม โดยเฉพาะในหมู่แฟนนิยายวิทยาศาสตร์ หลังจากภาคดิออริจินอลซีรีส์ สตาร์ เทรค ได้ถูกสร้างออกมาเป็นละครโทรทัศน์อีก 6 ภาค และภาพยนต์อีกทั้งหมด 13 ภาค


       สำหรับ สตาร์ เทรค: ดิออริจินอลซีรีส์นั้น เป็นเรื่องราวเกียวกับการผจญภัยระหว่างดวงดาว ในช่วงศตวรรษที่ 23 ของกัปตันเจมส์ ที เคิร์ก (Captain James T. Kirk) และลูกเรือบนยานยูเอสเอส เอนเตอร์ไพรซ์ (USS Enterprise) สป็อคเป็นหนึ่งในตัวละครที่สำคัญของเรื่อง ทำหน้าที่เป็นต้นหน (first officer) และเจ้าหน้าที่วิทยาการ (science officer) ของยาน โดยสป็อคเป็นลูกครึ่งมนุษย์กับชาววัลแคน
 


ภาพสป็อค จากสตาร์ เทรค: ดิออริจินัลซีรีส์ ซึ่งแสดงโดย ลีโอนาร์ด นิมอย (Leonard Nimoy)
(ภาพจาก www.startrek.com) 


       ถึงแม้ว่าในสตาร์ เทรค: ดิออริจินอลซีรีส์ และในภาพยนต์ภาคที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับดิออริจินอลซีรีส์จะไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า วัลแคนโคจรรอบดาวฤกษ์ดวงใด แต่ใน สตาร์ เทรค ในรูปแบบของวรรณกรรม ได้ปรากฏชื่อดาวฤกษ์ที่วัลแคนโคจรรอบอยู่สองดวง ได้แก่ 40 Eridani A และ Epsilon Eridani ในปี 1991 ผู้สร้าง ยีน ร็อดเดนเบอร์รี พร้อมด้วยนักวิทยาศาสต์อีกสามคนจากสถาบันดาราศาสตร์ฟิสิกส์แห่งฮาวาร์ด-สมิทโซเนียน (Harvard-Smithsonian Center for Astrophysics) ซึ่งได้แก่ Sallie Baliunas, Robert Donahue และ George Nassiopoulos ได้ออกมาสนับสนุน 40 Eridani A ว่ามีคุณสมบัติที่สอดคล้องกับ “ดวงอาทิตย์” ของวัลแคน โดยให้เหตุผลว่า 40 Eridani A นั้นมีอายุ 4 พันล้านปี ซึ่งใกล้เคียงกับอายุดวงอาทิตย์ของโลก (4.6 พันล้านปี) เมื่ออ้างอิงจากวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตบนโลกแล้ว อายุ 4 พันล้านปีของ 40 Eridani A เป็นอายุที่มากพอที่จะทำให้สิ่งมีชีวิตบนวัลแคนพัฒนาเป็นสิ่งมีชีวิตชั้นสูง ที่มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าดังเช่นสป็อคได้ ในขณะที่ Epsilon Eridani มีอายุเพียงราวๆ 1 พันล้านปี ซึ่งอายุดังกล่าวนั้น สิ่งมีชีวิตยังไม่สามารถวิวัฒนาการไปได้ไกลกว่าพวกแบคทีเรีย


ภาพดาวเคราะห์ HD 26965 b จากจินตนาการของศิลปิน จุดสีส้มขนาดใหญ่ทางมุมขวาบนของภาพคือ 40 Eridani A ซึ่ง HD 26965 b โคจรรอบอยู่ ส่วนจุดเล็กสีขาวและแดงทางซ้ายบนของภาพคือดาวฤกษ์ที่อยู่ในระบบดาวเดียวกัน มีชื่อว่า 40 Eridani B และ C ตามลำดับ   
(ภาพจาก Don Davis/University of Florida)


       HD 26965 b ถูกค้นพบโดยวิธีการที่เรียกว่า radial velocity (RV) method วิธีการนี้มีหลักการคือดาวฤกษ์ที่มีดาวเคราะห์โคจรอยู่รอบจะเกิดการแกว่งน้อยๆ ซึ่งทำให้แสงจากดาวฤกษ์ที่ส่องมาถึงโลกมีลักษณะไม่คงที่ โดยนักดาราศาสตร์จะสำรวจดาวดวงเดียวหลายๆครั้ง เพื่อสังเกตการเปลี่ยนแปลงในสเปกตรัมของดาว ซึ่งทำให้บอกได้ว่ามีดาวเคราะห์โคจรอยู่รอบดาวนั้นๆ ทีมนักดาราศาสตร์ที่ค้นพบ HD 26965 b นี้ ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาด 2 เมตร คือ Automatic Spectroscopic Telescope (AST) และ ขนาด 1.3 เมตร คือ Dharma Endowment Foundation Telescope (DEFT) ซึ่งตั้งอยู่ที่รัฐอริโซนาในสหรัฐอเมริกา เก็บสเปกตรัมของดาว 40 Eridani A กว่า 130 สเปกตรัม และนำไปรวมกับข้อมูล radial velocity ที่อยู่ในฐานข้อมูล ซึ่งได้มาจากกล้องอื่นๆ มาวิเคราะห์ ทางทีมสามารถสรุปได้ว่า ดาวเคราะห์ HD 26965 b นั้นมีมวลประมาณแปดเท่าของโลก มีขนาดเป็นประมาณสองเท่าของโลก และโคจรรอบดาวศูนย์กลาง 40 Eridani A  ทุกๆ 42 วัน  


       HD 26965 b มีแรงโน้มถ่วงที่พื้นผิวสูงกว่าโลก เนื่องจากมันมีมวลมากกว่า และอุณหภูมิพื้นผิวสูงกว่าโลก เพราะโคจรอยู่ใกล้กับดาวศูนย์กลางมากกว่าระยะที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์มาก ด้วยเหตุนี้ HD 26965 b จึงไม่สามารถมีน้ำที่เป็นของเหลวอยู่บนพื้นผิวของมันได้ (ไม่อยู่ในบริเวณที่เรียกว่า habitable zone หรือบริเวณที่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิต) อย่างไรก็ตามยังเป็นการยากที่จะสรุปว่า HD 26965 b ไม่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ ยังมีความเป็นไปได้ที่สิ่งมีชีวิตอาจจะสามารถอาศัยอยู่ในถ้ำ หรือใต้พื้นผิวของดาว หรือไม่สิ่งมีชีวิตที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ที่ HD 26965 b อาจจะเป็นสิ่งมีชีวิตในแบบที่เรายังไม่รู้จักก็เป็นได้ 


       ถึงแม้ว่า HD 26965 b จะมีมวลมากกว่าโลกมาก และไม่อยู่ในบริเวณที่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิต แต่มันยังคงมีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากมันเป็นดาวเคราะห์ขนาดเล็กที่อยู่ใกล้กับโลกเป็นอันดับต้นๆ มันจึงเป็นเป้าหมายสำหรับการสำรวจด้วยโครงการด้านอวกาศอื่นๆในอนาคตอันใกล้ เพื่อที่จะศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับคุณสมบัติเชิงลึกของดาวเคราะห์ขนาดเล็กและชั้นบรรยากาศของมัน นอกจากนี้ดาวฤกษ์ 40 Eridani A เป็นดาวที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เราทุกคนบนโลกสามารถชี้ไปที่มันแล้วพูดว่า “นั่นไงบ้านของสป็อค” ดังที่ Bo Ma หนึ่งในสมาชิกของทีมที่ค้นพบ HD 26965 b ได้กล่าวไว้

 

เรียบเรียงโดย

อภิชาติ หอเที่ยงธรรม
ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัย Northeastern สหรัฐอเมริกา



อ้างอิง