พายุสุริยะอาจจะเป็นสาเหตุการระเบิดอย่างปริศนาของทุ่นระเบิดในยุคสงครามเวียดนาม

29-11-2018 อ่าน 3,636


ภาพจาก http://www.astronomy.com/great-american-eclipse-2017/articles/2016/06/could-a-solar-storm-shut-down-earth


ในปี ค.ศ. 1972 ในสมัยสงครามเวียดนาม นักบินกองทัพอากาศของสหรัฐอเมริกาบินอยู่บริเวณทะเลใกล้กับเกาะ Hon La ประเทศเวียดนาม เขาพบการระเบิดของทุ่นระเบิดในทะเลระเบิดเองอย่างเป็นปริศนา มันเป็นทุ่นระเบิดที่ทหารสหรัฐอเมริกาวางไว้ในการปฏิบัติการ Pocket Money เพื่อกันเรือของฝ่ายเวียดนามเหนือ นักบินกองทัพอากาศของสหรัฐอเมริกาพบการระเบิดประมาณ 20-25 ครั้ง ในระยะเวลาประมาณ 30 วินาที และพบบริเวณจุดที่เป็นโคลนขุ่นในทะเลอีก 25-30 จุด ปรกติแล้ว ทุ่นระเบิดควรจะระเบิดเมื่อมีเรือแล่นผ่าน แต่เหตุการณ์นี้ไม่มีเรือสักลำแล่นผ่าน เรื่องนี้เป็นปริศนามายาวนานว่าทุ่นระเบิดสามารถระเบิดเองได้อย่างไร และในการศึกษาล่าสุดพบว่าสาเหตุอาจจะมาจากนอกโลก พายุสุริยะอาจจะเป็นสาเหตุของการระเบิดนี้


เพื่อที่จะได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น เราควรมาทำความรู้จักกับคำเหล่านี้กันก่อน ลมสุริยะ (Solar wind) คือ กระแสของอนุภาคที่มีประจุไฟฟ้าซึ่งถูกปลดปล่อยมาจากชั้นโคโรนาของดวงอาทิตย์ อนุภาคเหล่านี้จะประกอบไปด้วย โปรตรอน อิเล็กตรอน และอาจมีไอออนของธาตุหนักรวมอยู่ด้วย โดยลมสุริยะมีการปลดปล่อยพลังงานสูงในระดับกิโลอิเล็กตรอนโวลต์และมีความเร็วเฉลี่ยที่ 400 กิโลเมตรต่อวินาที โดยถ้าในช่วงที่ดวงอาทิตย์มีจุดบนดวงอาทิตย์จำนวนมาก (Solar maximum) ทำให้ปฏิกิริยาระหว่างพลาสมาซึ่งเคลื่อนที่ไปมาในชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์เกิดการสะสมพลังงานไว้สูงมากและมีการปลดปล่อยออกมาด้วยความเร็วและพลังงานสูงกว่าลมสุริยะ เราจะเรียกปรากฎการณ์นี้ว่า พายุสุริยะ (Solar storm)

 

ภาพจากhttps://theascensionistblog.wordpress.com/2012/07/15/large-solar-flare-to-hit-earth-today/



พายุสุริยะนอกจากจะทำให้เกิดปรากฏการณ์แสงเหนือแสงใต้ที่สวยงามบริเวณขั้วโลกแล้วมันยังส่งผลกระทบรบกวนระบบการสื่อสาร ระบบนำทาง โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่และสร้างความเสียหายต่อดาวเทียมและการศึกษาใหม่ที่ Delores J. Knipp และคณะได้ตีพิมพ์ลงในวารสาร Space Weather ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2018 ยังพบว่าพายุสุริยะอาจจะเป็นสาเหตุให้ทุ่นระเบิดในทะเลระเบิดได้เองในปี ค.ศ. 1972


การศึกษาใหม่นี้อาศัยข้อมูลจากเอกสารลับของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา ที่ถูกเก็บไว้ในหอจดหมายเหตุสงครามเวียดนาม โดยจากเอกสารพบว่าเมื่อมีการระเบิดของทุ่นระเบิดเองอย่างเป็นปริศนา กองทัพเรือก็ดำเนินการสืบสวนทันทีและคาดการณ์กันว่าพฤติกรรมของดวงอาทิตย์ (Solar Activity) เป็นสาเหตุของปัญหานี้

ภาพจาก http://www.navweaps.com/Weapons/WAMUS_Mines.php


ทุ่นระเบิดนี้เป็นชนิดที่จุดระเบิดจากแม่เหล็ก (magnetic influence sea mines) ซึ่งถูกออกแบบมาให้ตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กที่เกิดจากเรือแล่นผ่าน ในยุคนั้นเป็นที่รู้กันดีว่าพฤติกรรมของดวงอาทิตย์อาจรบกวนสนามแม่เหล็กโลก หน่วยงานสืบสวนของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาต้องการยืนยันว่าพฤติกรรมของดวงอาทิตย์สามารถจุดระเบิดทุ่นระเบิดใต้น้ำได้ จึงไปปรึกษากับ National Oceanographic and Atmospheric Administration (NOAA) และคำตอบที่ออกมาก็คือมีความเป็นไปได้สูง
การศึกษาใหม่ของ Delores J. Knipp และคณะช่วยยืนยันคำตอบนี้ โดยพบว่าในเวลาไม่นานก่อนจะเกิดการระเบิดของทุ่นระเบิดอย่างเป็นปริศนานั้น ณ บริเวณจุดมืดของดวงอาทิตย์ที่รู้จักกันในชื่อว่า MR 11976 ได้เกิดปรากฏการณ์การปลดปล่อยก้อนมวลสารจากโคโรนา (Coronal mass ejection, CME) ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ชนิดหนึ่งของพายุสุริยะ โดยเป็นการปลดปล่อยพลังงานจำนวนมหาศาลของพลาสมาและสนามแม่เหล็กจากดวงอาทิตย์ ในครั้งนี้มันเดินทางมาถึงโลกเพียงแค่ระยะเวลา 14.6 ชั่วโมง จากปรกติที่ใช้เวลาวันถึงสองวันในการมายังโลก


ปรากฏการณ์การปลดปล่อยก้อนมวลสารจากโคโรนาครั้งนี้เป็นครั้งที่รุนแรงมาก มันจึงสามารถจุดระเบิดทุ่นระเบิดได้ และไม่เพียงแค่นี้ ยังพบหลายพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทั้งในบราซิล ญี่ปุ่น รวมถึงบริษัทพลังงานในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาก็มีรายงานความเสียหายที่เล็กน้อยไปถึงรุนแรงต่อสายเคเบิลของโทรศัพท์และโทรเลข


เหตุการณ์ในปี ค.ศ. 1972 นี้คล้ายกับความรุนแรงในระดับชั้นคาลิงตัน (Carrington-class) ซึ่งหมายถึงเหตุการณ์พายุสุริยะรุนแรงที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ 1859 โดยคำว่าคาลิงตันนั้นมาจากชื่อนักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ 
ริชาร์ด คาลิงตัน (Richard Carrington) ผู้พบว่าพายุสุริยะอาจจะสามารถสร้างการรบกวนแก่สนามแม่เหล็กโลกได้


ไม่อยากจินตนาการเลยว่าถ้าเหตุการณ์ในปี ค.ศ. 1972 เกิดขึ้นในปัจจุบันในยุคที่ผู้คนพึ่งพาเทคโนโลยีการสื่อสารมากแบบนี้จะมีผลลัพธ์เช่นไรและเป็นเรื่องที่ท้าทายว่าในอนาคตว่านักวิทยาศาสตร์จะคิดหาทางรับมือกับพายุสุริยะที่รุนแรงแบบนี้ได้อย่างไร 


 

เรียบเรียงโดย

ณัฐพล โชติศรีศุภรัตน์
ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


อ้างอิง